บรรทัดฐานทางสังคม

บรรทัดฐานทางสังคม

            หลังจากอาหารมื้อกลางวันที่แสนจะถูกปากถูกใจผ่านไป ก็เป็นวิสัยที่
ชอบหยิบจับหนังสือพิมพ์มาดูสักฉบับ เดิมทีว่าจะอ่านผ่านๆแบบสบายๆ แต่
พอเจอบทสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผมรีบวางถ้วยชาร้อนๆในมือ แล้วตั้งใจอ่านเนื้อความทั้งหมด

            เมื่ออ่านจบสรุปสั้นๆได้ว่า
            ๑. ตำแหน่ง "สมเด็จพระสังฆราช" เป็นตำแหน่งของความศรัทธา ซึ่งต้องได้รับการยอมรับจากพุทธศาสนิกชนทุกคน(ขอย้ำว่า ทุกคน)
            ๒. ถ้ามีใครมาชี้ว่า สมเด็จวัดปากน้ำ มีมลทิน แม้ว่าท่านจะ คิดว่าท่านบริสุทธิ์ก็ตาม ท่านก็ต้องสละ
            ๓. หากดำเนินการเช่นนี้ ประวัติศาสตร์จะจารึกว่า ท่านเป็น ผู้เสียสละอย่างยิ่งต่อพุทธศาสนา

            ในประเด็นเหล่านี้ก็จะมีข้อคิดต่อไปว่า
            ๑. โดยหลักเห็นด้วยว่า ผู้เป็นสมเด็จพระสังฆราชต้องได้รับ
การยอมรับ แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่มีอคติ
คือ ความลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะกลัว และ
ลำเอียงเพราะขาดข้อมูล
            ๒. หากยึดหลักการตามข้อ ๒ ข้างต้น โอกาสที่เราจะไม่มี
พระสังฆราช มีได้สูง สมมุติว่าหลวงพ่อสมเด็จท่านสละ แล้วมีการ
คัดเอาสมเด็จ ก​  ขึ้นมา ปรากฎว่า มีนางสาวอิซาร่า ออกมาบอกว่า
ท่านมีมลทิน สมเด็จ ก ก็ต้องสละ เอ้า คัดใหม่ เอาสมเด็จ ข ขึ้นมา
ก็ปรากฎว่ามี นางอิแซร่า มาค้านอีกว่าท่านมีมลทิน ตกลง ชาตินี้
เราจะมีโอกาส ได้กราบไหว้ สมเด็จพระสังฆราช ผู้เป็นพระประมุข 
แห่งศาสนจักรของเราหรือไม่
            ๓.หากหลวงพ่อสมเด็จสละจริง แน่ใจหรือว่า ผู้ที่ตั้งธงว่า
ท่านต้องสละ จะยอมบันทึกว่า ท่านเป็นผู้เสียสละ เพราะหากบันทึก
เช่นนั้นก็จะมีคำถามว่า ใครบีบให้หลวงพ่อท่านต้องสละ (แม้วันนี้
คนจะยังไม่กล้าเขียนว่าคนสั่งตัวจริงคือใคร แต่สักวันคนจะรู้กัน
ทั้งแผ่นดิน) ดังนั้นเขาก็ต้องเขียนว่า ท่านมีมลทินจึงต้องสละ

            ตกลงเราจะเอาอะไรเป็นบรรทัดฐานในการทำให้เรื่องนี้
จบโดยเร็ว ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องหญ้าปากคอก เป็นเรื่องง่าย
แต่เราทำให้มันยาก (หรือพูดตรงๆ มีผู้ทำให้มันยาก เรื่องจริงมัน
ยิ่งกว่านิยายน้ำเน่าอีกครับผม)

            พูดถึงบรรทัดฐาน เรามาดูกันสักนิด จะได้มีหลักในการคิด
ในการตัดสินใจ บรรทัดฐานหรือแบบ มี ๓ อย่าง
            ๑. แบบอย่าง คือ สิ่งที่ทำสืบต่อกันมา
            ๒. แบบแผน คือ จารีตประเพณี
            ๓. แบบฉบับ คือ กฎหมาย เป็นสิ่งที่ทำจนตกผลึก จนมีการ
บันทึก เป็นที่ยอมรับกัน มีบทลงโทษอย่างชัดเจน

            ใช่ครับ ผมกำลังจะบอกว่า วันนี้หากทุกคน ยอมรับกติกา
ทำตามแบบฉบับหรือกฎหมาย ทุกอย่างมันสงบทันที กล่าวคือ
ในพ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ระบุไว้ชัดเจน แทบไม่ต้อง
ตีความใน มาตรา ๗ เกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราชว่า
            “......ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง  ให้นายก
รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จ
พระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ  เพื่อ
ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช.....”

            เห็นไหมครับ ว่ามันเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าปฏิบัติตามกฎหมาย
เมื่อคณะสงฆ์ทั้งสองนิกาย เห็นพ้องต้องกัน ส่งให้นายกฯ ท่าน
นายกฯ ก็ทูลเกล้าถวายในหลวง ตอนนั้นก็สุดแท้แต่พระองค์จะ
ว่าอย่างไร แต่นี่พอมีคนและพระรูปเดียว ออกมาค้านก็บอกว่า
คณะสงฆ์มีปัญหาแล้ว ตกลงเราจะเอาแบบนี้เป็นบรรทัดฐาน
ใช่หรือไม่
            ตอบให้ดีนะครับ หากตอบว่าใช่ ต่อไปเมื่อเราจะแต่งตั้งใคร
เป็นนายกฯ หากมีคนออกมาคัดค้านแค่คนเดียว ก็ไม่สามารถที่
จะแต่งตั้งได้แล้ว ใช่ไหมครับ

            ณ วันนี้หากเราต้องการสังคมที่สงบ สังคมที่มีระบบ
ระเบียบแบบแผน เราไม่จำเป็นจะต้องไปสร้างไปทำอะไรใหม่ๆเลย เพียงแค่เรามาทำตามบรรทัดฐานที่มีอยู่ ก็จะทำให้สังคมของเรา
น่าอยู่ มีความรัก ความหวังดี ความปรารถนาดีต่อกันแล้วครับ

Cr.ปรัศนี











บรรทัดฐานทางสังคม บรรทัดฐานทางสังคม Reviewed by asabha072 on 1:09 AM Rating: 5

No comments:

Powered by Blogger.