จริงหรือว่าพระพุทธศาสนาไม่มีระบบจัดการ

จริงหรือว่าพระพุทธศาสนาไม่มีระบบการจัดการ
            หากคุณเป็นเจ้าของกิจการอะไรสักอย่าง คุณเตรียมจะส่งต่อกิจการ ให้กับ ทายาทของคุณ คำถามคือ คุณจะทำอย่างไร จะปล่อยให้เขาไปลองผิดลองถูกเอง หรือจะสอน จะแนะนำวิธีบริหารกิจการ ผมว่า ถามเด็กๆที่ไหนก็ตอบได้ ใช่ไหมครับ คงไม่ต้องให้ผมเฉลยกระมัง
            ในช่วงที่ผ่านมา มีคนสอบถามผมว่า มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องที่พูดๆ กันจากวิทยานิพนธ์ของพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งมีหลายประเด็นที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า จริงๆแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ข้อที่ว่า คณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาลอยู่โดย ไม่มีการจัดการบริหารใดๆ ก่อนที่จะตอบคำถามนั้น ขอคุยกับทุกท่านแบบสบายๆ ไม่ต้องอิงวิชาการอะไรมากมายนัก ลองนึกย้อนไปถึงเจ้าชายสิทธัตถะในวัยเยาว์ ท่านจบ 18 ศาสตร์หรือถ้าเทียบปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่า 18  ปริญญา   ตั้งแต่ยังเป็น กุมารองค์น้อย และอย่าลืมว่า ท่านถูกฝึกเพื่อการเป็นพระราชาในอนาคต ดังนั้นวิชาสำหรับ ผู้ปกครอง มีหรือจะไม่ถูกสอน พอจะนึกภาพกันออกนะครับ นี่เป็นความรู้ทางโลกนะครับ แล้วยิ่งพอเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช แล้วตรัสรู้ธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสรู้อะไร นึกต่อกันนะครับ ยามต้นพระองค์บรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ การระลึกชาติในอดีตทั้งของ ตนเองและผู้อื่น พอยามสอง พระองค์ก็บรรลุจุตูปปาตญาณ คือ การเห็นการไปเกิด การดับ ของสัตว์ทั้งหลาย และท้ายสุดในยามสาม พระองค์ก็บรรลุอาสวขยญาณ พอจะนึกออกหรือยังครับว่า หนึ่งในการตรัสรู้ธรรม ของพระองค์คือ การระลึกชาติซึ่งเรามักจะเห็นอยู่บ่อยๆว่า เมื่อพระองค์เจอเรื่องราวใดๆ พระองค์ จะระลึกชาติไปดูว่า เรื่องแบบนี้ในอดีตที่เคยเกิดขึ้น จะแก้ปัญหาอย่างไร ถึงบางอ้อ หรือยังครับว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์อาศัยความรู้จาก ทั้งภายนอกคือจากความรู้ที่เพาะบ่มมาตอนเป็นราชกุมาร บวกกับความรู้ภายใน ที่ได้จากการตรัสรู้ธรรม ดังนั้นการบริหารงานในการคณะสงฆ์ของพระองค์จึงเป็น ไปด้วยความเรียบร้อย ทำให้สงฆ์มีแต่ความงดงาม เรามามองกันต่อไปครับว่า เมื่อมี กุลบุตรบวชเข้ามาแล้ว พระองค์ทำอย่างไร  พระองค์จะดูอัธยาศัยของแต่ละคน แล้วไม่ใช่ดูธรรมดา บางรายพระองค์ระลึกชาติไปดูด้วยซ้ำว่าคนนี้ ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แล้วให้ความรู้ที่ถูกกับจริตของเขา บางรายก็จะส่งไปหาพระรูปนั้น รูปนี้ เช่น ใครชอบทางวิชาการก็ไปหาพระสารีบุตร ใครชอบเรื่องฤทธิ์เรื่องเดช ก็ไปหาพระโมคคัลลานะ ใครชอบปฏิบัติธรรมก็ไปหาองค์โน้น ใครชอบสวดมนต์ ก็ไปหาองค์นั้น อะไรทำนองนี้ และพระองค์ได้ตั้งพระอสีติสาวก หรือพระที่มีความ รู้ความสามารถที่แตกต่างกันออกไปถึง 80 องค์ ซึ่งจริงๆแล้วนั่นคือ การบริหาร การจัดการแบ่งเป็นฝ่ายเป็นแผนกในการเคลื่อนธรรมยาตรานั่นเอง
            เอ้า มาดูกันต่อไป ในแง่การจัดการบริหารในการเผยแผ่ยิ่งจะเห็นชัดเจน ว่าพระพุทธองค์ไม่ได้ปล่อยให้ทำอะไรโดยขาดการจัดการหรือหลักการที่ดี เช่น พระอรหันต์ชุดแรกที่พระองค์ส่งออกไปเผยแผ่ พระองค์ก็ให้หลักเลยว่า เธออย่าไปทางเดียวหลายคน แต่เธอจงไปคนเดียวหลายทาง และพอถึงวันสำคัญ คือวันมาฆบูชา ที่เป็นการเผยแผ่อันยิ่งใหญ่ คือ การให้หลักในการเผยแผ่แก่ พระอรหันต์ถึง 1,250  รูป ที่เรียกกันว่าโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งผมคงไม่ลงรายละเอียด ในการเขียนครั้งนี้ เอาเป็นว่า นั่นคือ แนวทางหรือวิถีของชาวพุทธ ที่เป็นอุดมการณ์ หลักการและวิธีการในการดำเนินชีวิตของชาวพุทธเลยทีเดียว แล้วสงสัยไหมครับ ว่าระดับพระอรหันต์แล้ว ทำไมจะต้องมาให้นโยบาย แน่นอนครับว่าทุกรูป ท่านหมดกิเลส แต่วิธีการสอนหากไม่บอก ไม่ให้แนวทาง ก็มีสิทธิเอาตาม ความถนัด ดังนั้นจึงให้นโยบาย เป็นการจัดการวางรูปแบบไว้ให้ไปในทิศทาง เดียวกัน
            นี่เป็นเพียงแค่บางส่วนที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์เป็นยอดนักบริหาร ซึ่งหากไปค้นดูในพระไตรปิฏกอย่างละเอียด ค่อยๆดูไปตั้งแต่พระวินัย จะยิ่งเห็นความเป็นอัจริยภาพของพระองค์ แล้วจะรู้เลยว่า ศาสตร์ทุกศาสตร์ที่เราร่ำเรียนกัน ล้วนแล้วแต่อยู่ในพระไตรปิฎกทั้งสิ้น
            อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผมคงไม่ต้องตอบอีกกระมังครับว่า ในสมัยพุทธกาล มีระบบการจัดการหรือไม่ หากไม่แน่ใจ ขอให้ค่อยๆเข้าไปอ่าน ไปศึกษาด้วยตนเอง แล้วจะยิ่งเกิดความรัก ความเคารพ ความศรัทธาในพระพุทธองค์ยิ่งขึ้นครับ


Cr.ปรัศนี         
จริงหรือว่าพระพุทธศาสนาไม่มีระบบจัดการ จริงหรือว่าพระพุทธศาสนาไม่มีระบบจัดการ Reviewed by asabha072 on 7:32 PM Rating: 5

No comments:

Powered by Blogger.