หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๑๙)



หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๑๙)



     ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ว่า ความศรัทธาเลื่อมใสของคนเรานั้นเกิดได้จากเหตุ ๔ ประการ คือ

     ๑.รูปัปปมาณิกา ความเลื่อมใสในรูป ท่าทางที่สง่า

     ๒.โฆสัปปมาณิกา ความเลื่อมใสในน้ำเสียง

     ๓.ลูขัปปมาณิกา ความเลื่อมใสในการใช้ของคร่ำคร่า เศร้าหมอง

     ๔.ธัมมัปปมาณิกา ความเลื่อมใสในธรรม

     ในจำนวนของความเลื่อมใสทั้งหมดนี้ นับว่าความเลื่อมใสในลำดับสุดท้ายคือ เลื่อมใสในธรรม สำคัญที่สุด เพราะหากยึดมั่นในธรรมแล้ว จะเป็นความเลื่อมใสศรัทธาที่ยั่งยืน



     แต่ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับความจริงว่า การที่เราพบเห็นใครสักคนในครั้งแรก ก็จะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ชวนให้เราอยากเข้าไปสนทนาด้วย หากแค่การพบกันเพียงครั้งแรกแล้วไม่ประทับใจ มีความรู้สึกว่าครั้งเดียวก็เกินพอ ก็ยากที่จะทำให้เกิดความคิด ความรู้สึกที่จะเข้าถึงความรู้ที่เขามีได้

     ลองนึกง่าย ๆ ว่ามีคนแนะนำเราว่า มีคน ๆ หนึ่ง สามารถที่จะให้ความช่วยเหลือเราได้ พอเราไปพบ สภาพที่เห็นคือ เมาแอ่น ผมเผ้ารุงรัง เนื้อตัวเหม็นสาบ ก็คงยากที่จะเชื่อได้ว่า เขาจะมีความสามารถที่จะช่วยเราได้ เพราะแม้แต่ตัวเองยังจะเอาตัวไม่รอด



     ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราไปวัดไหนพบเจอพระที่ท่านนุ่งห่มเรียบร้อย พูดจาไพเราะ อ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส ก็ย่อมจะเป็นแรงจูงใจในการที่อยากจะศึกษาธรรมะจากท่าน

     ด้วยเห็นความสำคัญอย่างนี้ หลวงพ่อทั้งสองจึงได้ทำตัวให้เป็นต้นแบบและเคี่ยวเข็ญลูกพระลูกเณรในเรื่องการนุ่งห่ม ดังนั้นพระภิกษุหรือสามเณรที่เข้ามาอบรม จะถูกพระพี่เลี้ยงเข้มงวดกวดขัน ไม่ปล่อยผ่านในเรื่องนี้ ควบคู่ไปกับการศึกษาทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติ



     ในช่วงที่อาตมาเป็นพระพี่เลี้ยงสามเณรนั้น หลวงพ่อทัตตชีโวจะคอยมาตรวจตามราวตากผ้าของสามเณร ท่านจะดูรายละเอียดแม้กระทั่งการตากผ้าตึงหรือไม่ ชายผ้าเป็นอย่างไร ในระหว่างที่ท่านเดินตรวจดูนั้น พระพี่เลี้ยงก็จะเดินตามคอยบันทึกจดจำว่า หลวงพ่อให้คำแนะนำอะไรบ้าง

     “ พวกท่านอย่าดูเบาในเรื่องการนุ่งการห่ม การซักผ้า ตากผ้าของสามเณรนะ เรื่องการซักผ้านี่หากไม่จนใจจริง ๆ อย่าให้ซักตอนกลางคืน เพราะผ้าจะอับ ซักตอนเช้า ตอนกลางวันจะดีที่สุด ผ้าจะแห้งเร็ว จะได้ไม่มีกลิ่น และหากผ้าแห้งแล้วต้องรีบเก็บ ไม่งั้นแดดมันจะเลียผ้า ทำให้ผ้าซีดเร็ว ”

     สิ่งหนึ่งที่เป็นกิจวัตรที่พระพี่เลี้ยงสามเณรจะต้องทำคือ ดูแลในเรื่องการนุ่งห่ม แทบจะเรียกได้ว่า ต้องดูกันตั้งแต่ตื่นจากจำวัด จนกระทั่งเข้าจำวัด กล่าวคือ เมื่อตื่นมาก็ต้องดูว่า สามเณรนุ่งห่มเรียบร้อยหรือไม่ เวลาจะเดินไปฉันก็ต้องตรวจอีกรอบ ระหว่างวันก็ต้องคอยดูว่าเป็นอย่างไร ก่อนจำวัดก็ต้องคอยบอกว่าให้ช่วยกันพับผ้าเตรียมไว้ห่มดองในตอนเช้าด้วย

          

     ในเรื่องนี้ขอแบ่งเป็น ๒ ประเด็นที่หลวงพ่อทัตตชีโวได้สั่งไว้

     ๑. เรื่องการนุ่งห่ม ท่านย้ำว่า

     “ อย่าลืมว่าเณรยังเป็นเด็ก เวลานุ่งเวลาห่มจะเอาเร็วเข้าว่า พวกท่านต้องคอยดู เร็วน่ะดี แต่ต้องเรียบร้อย ตามพระวินัย นุ่งสบงต้องครึ่งแข้ง เวลาห่มดองก็ต้องคอยดู เวลารัดอก ก็อย่าให้ต่ำไปหรือสูงไป จะไม่น่าดู ผ้ารัดอกให้เป็นรัดอก ไม่ใช่ไปรัดเอว ชายจีวรต้องเสมอกับชายสบง ดูให้ดี ให้เณรคุ้นกับของมาตรฐาน ”



     ๒. เรื่องการพับผ้า หลวงพ่อเมตตาให้คำแนะนำอย่างที่อาตมาไม่เคยนึกถึงว่า

     “ รู้มั้ย ทำไมหลวงพ่อให้เณรพับผ้าด้วยกัน ”

     “ พับช่วยกัน ทำให้ผ้าเรียบ เวลานุ่งห่มจะดูสวยงาม เป็นระเบียบครับ ” อาตมาตอบท่านด้วยความมั่นใจว่าถูกต้องแน่นอน ที่ไหนได้ นอกจากไม่ชมแล้วหลวงพ่อยังสอนอีกว่า

     “ ท่านเป็นพี่เลี้ยงสามเณร คิดอะไรอย่าคิดตื้น ๆ หลวงพ่อให้เณรจับคู่พับผ้าด้วยกัน นอกจากจะเป็นการคอยดูแลเอาใจใส่กันแล้ว นั่นคือการฝึกการทำงานเป็นทีม ”

     ราวกับหลวงพ่อท่านจะรู้ว่าอาตมายังไม่กระจ่างในคำตอบ ท่านเลยอธิบายต่อว่า

     “ ทำไมหลวงพ่อถึงบอกว่าเป็นการทำงานเป็นทีม คำว่าทีม ท่านอย่าคิดว่าต้องมีหลายคน แค่สองคนก็เป็นทีมได้ เวลาสามเณรพับผ้าด้วยกัน ท่านคอยสังเกตให้ดีนะ หากคู่ไหนที่จะทำงานด้วยกันได้ เวลาพับผ้าจะรอกัน คอยดูว่าอีกองค์พับไปถึงไหนแล้ว ส่วนคู่ไหน ทำงานเป็นทีมไม่เป็น จะไม่สนใจคู่ของตน จะรีบพับ ๆ ให้เสร็จ ๆ นอกจากจะพับไม่สวยแล้ว ต่อไปจะหงุดหงิดกัน นี่คือวิธีดูคนนะท่าน ”

      เพราะความละเอียดและใส่ใจในทุกขั้นตอนของหลวงพ่อทั้งสอง จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมพระเณรวัดพระธรรมกายจึงนุ่งห่มได้เรียบร้อย

     คงไม่มีอะไรสงสัยแล้วนะคุณโยม



ขอขอบคุณภาพจาก google.com
อาสภกันโต ภิกขุ
๖ ส.ค. ๕๙
หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๑๙) หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๑๙) Reviewed by asabha072 on 3:25 PM Rating: 5

13 comments:

  1. เป็นบุญ ที่ได้รับฟังคำสอนหลวงพ่อโดยที่เราไม้ได้อยู่ตรงนั้น ค่ะ

    ReplyDelete
  2. เหมือนอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเลยครับ กราบขอบพระคุณในคำสอนดี ๆ สาธุ

    ReplyDelete
  3. เป็นบทฝึกเรื่องหยาบๆ ภายนอกให้พัฒนาเป็นอุปนิสัยรักการทำงานเป็นทีมโดยไม่รู้ตัว ถ้าไม่ใช่คนละเอียดช่างสังเกตก็ยากที่จะมองออกว่าเรื่องนี้ฝึกคุณธรรมได้อย่างไร เป็นความโชคดีที่ได้พระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็นครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะ กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ที่นำมาถ่ายทอดนะครับ

    ReplyDelete
  4. ปลื้มใจเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อทั้งสองค่ะ

    ReplyDelete
  5. ดีจังเลยค่ะ ได้ความรู้ไปด้วยเลยค่ะ

    ReplyDelete
  6. ดีจังเลยค่ะ ได้ความรู้ไปด้วยเลยค่ะ

    ReplyDelete
  7. กราบขอบพระคุณครับ

    ReplyDelete
  8. กราบสาธุ สาธุ สาธุ ค่ะ
    ได้ความรู้เพิ่มอีกแล้วดีจัง

    ReplyDelete
  9. สุโค่ย..อนุโมทนาบุญครับ

    ReplyDelete
  10. ครูบาอาจารย์ละเอียดมาก เรื่อง การรักษาศรัทธาญาติโยม
    ไม่ปล่อยผ่านแม้การนุ่งห่ม การพับผ้า ของสามเณร
    ที่พ่วงคุณธรรม เรื่อง "ทีม" แถมท้ายเข้าไปอีก กราบ กราบ กราบ

    ReplyDelete
  11. มาถูกทางแล้วครับ...ชีวิตเปลี่ยนปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะมาพบครูบาอาจรย์ ที่ดีเลิศ ต้องกรายขอบพระคุณ
    และอนุโมทนาบุญด้วยครับ

    ReplyDelete
  12. เล่าได้เห็นภาพรายละเอียด เหมือนอยู่ร่วมในเหตุการณ์เลยค่ะ กราบอนุโมทนาสาธุกับพระอาจารย์ค่ะ

    ReplyDelete

Powered by Blogger.