โครงการตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง เพื่อช่วยเหลือพระภาคใต้
ทั้งที่โครงการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งนี้ เกิดจากการที่คณะสงฆ์เห็นความลำบากของพระในสี่จังหวัดภาคใต้ ที่ต้องเสี่ยงภัยจากการมุ่งร้ายเอาชีวิต แม้แต่การออกบิณฑบาตยังต้องมีทหารคอยคุ้มกัน จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมา เป็นการแสดงความรักความห่วงใยที่สงฆ์มีต่อกัน ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหา เพิ่งจะมาเริ่มมีปัญหาจากการปลุกกระแสว่า ทำให้รถติดบ้าง กีดขวางการจราจรบ้าง ทำให้คนเดือดร้อนบ้าง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในการจัดงาน(แต่บางครั้งเมื่อมีคอนเสิร์ตยังปิดถนนได้ทั้งวัน)
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนมองย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล ที่มีเรื่องราวในอดีต ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดถึงการขัดลาภของผู้อื่น ทำให้ก่อกรรมหนักจนมีผลมาถึงชาติสุดท้าย แม้ท่านจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ต้องอดอยาก ไม่เคยได้ฉันอาหารอิ่มท้องจนวันสุดท้าย (หาอ่านฉบับเต็มได้จากโลสกชาดก)
เรื่องราวโดยย่อก็มีอยู่ว่า ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน คือ พระกัสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเจ้าอาวาสวัดหนึ่งในหมู่บ้าน เป็นผู้มีศีล ประพฤติดี เป็นที่เลื่อมใสแก่ผู้คน จนมีอุปัฏฐากคอยดูแลตลอดมา ต่อมามีพระอรหันต์ผ่านมาที่หมู่บ้าน อุปัฏฐากท่านนั้นเลยนิมนต์ให้ไปพักที่วัด เพื่อจะได้สนทนาธรรมด้วย เมื่อพระอรหันต์ไปถึงวัด ก็ได้สนทนากับเจ้าอาวาสแล้วก็จัดการเรื่องที่พักเรียบร้อย ตกเย็นอุปัฏฐากก็มาเยี่ยมเจ้าอาวาสและถามถึงพระอาคันตุกะรูปนั้น ได้ไปสนทนาธรรม เกิดความเลื่อมใส จึงนิมนต์ให้ไปฉันที่บ้านในวันรุ่งขึ้น
ฝ่ายเจ้าอาวาสยังเป็นปุถุชนอยู่ เห็นอุปัฏฐากของตนเอาอกเอาใจพระอาคันตุกะ เกรงว่าตนจะไม่ได้รับความนับถือเหมือนเดิม เลยทำมึนตึงกับพระอรหันต์รูปนั้นด้วยหวังว่าท่านจะได้ไม่อยู่นาน
วันรุ่งขึ้นก่อนออกบิณฑบาต เจ้าอาวาสก็ไปตีระฆังแต่เกรงพระอรหันต์จะไปด้วย จึงเอาหลังเล็บเคาะระฆัง ไปเคาะประตูเหมือนกัน แต่เคาะด้วยหลังเล็บนั่นเอง เป็นทำนองว่าฉันได้ให้สัญญาณได้เรียกแล้วนะ แล้วตัวเองก็ไปที่บ้านของอุปัฏฐากแต่ผู้เดียว ส่วนพระอรหันต์ท่านรู้เหตุ ท่านจึงแยกไปอีกทาง
เจ้าอาวาสเมื่อฉันเสร็จแล้วก็ใส่ไฟเลยว่า สงสัยพระอาคันตุกะ นอนขี้เซา ปลุกแล้วก็เงียบ อุปัฎฐากจึงฝากภัตตาหารมาถวาย ฝ่ายเจ้าอาวาสเกรงว่า หากพระอรหันต์ท่านได้ลิ้มรสอาหารเดี๋ยวจะติดอกติดใจ ไม่อยากไปไหน เลยเอาไปเททิ้งซะเลย
เมื่อกลับมาถึงวัด ไม่เห็นพระอรหันต์แล้ว เกิดความสำนึกผิดเสียใจมาก กินไม่ได้นอนไม่หลับ ร่างกายก็ผ่ายผอมลง จนในที่สุดก็มรณภาพ ไปเกิดในนรกหลายแสนปี
พ้นจากนรกก็มาเกิดเป็นยักษ์อีก 500 ปี ไม่เคยได้กินอาหารอิ่มท้องแม้แต่วันเดียว จนกระทั่งได้กินรกคนเต็มท้องอยู่มื้อหนึ่งแล้วก็ตายในวันนั้น
จากนั้นก็ไปเกิดเป็นสุนัขอีก 500 ชาติ ไม่เคยได้กินอาหารเต็มท้องแม้แต่วันเดียวอีกเช่นกัน มาได้กินเอาวันสุดท้ายคือวันตายได้กินอาเจียนของคน ๆ หนึ่งแล้วตายไป จากนั้นก็ยังท่องเที่ยวเสวยวิบากกรรมในสังสารวัฏอีกนาน
ในยุคพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ได้มาเกิดป็นบุตรของชาวประมงคนหนึ่ง ณ หมู่บ้านชาวประมงในแคว้นโกศล ซึ่งในหมู่บ้านนี้มีประมาณหนึ่งพันครอบครัว วันที่เด็กถือปฏิสนธิชาวประมงทั้งหมดเที่ยวหาปลาแต่ไม่มีใครได้ปลาเลยสักตัวเดียว แม้แต่ตัวเล็กๆ ตั้งแต่วันนั้นมา หมู่บ้านนี้ก็เสื่อมโทรมลงมาก ขณะที่เขาอยู่ในท้องของแม่ หมู่บ้านชาวประมงก็ถูกไฟไหม้ถึง 7 ครั้ง ถูกพระราชาลงโทษปรับสินไหม 7 ครั้ง ชาวประมงทั้งหลายจึงลำบากยากจนลงเรื่อยๆ
ชาวประมงทั้งหลายจึงประชุมกันเพื่อหาทางแก้ไข ในที่สุดจึงเห็นพ้องต้องกันว่า คงจะต้องมีบุคคลที่เป็นกาลกิณีอยู่ในหมู่บ้านอย่างแน่นอน จึงช่วยกันค้นหาบุคคลที่เป็นกาลกิณีนั้น โดยแบ่งกันออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 500 คน กลุ่มครอบครัวที่หญิงมีครรภ์ผู้นี้ไปอยู่ทำมาหากินไม่ขึ้น ส่วนกลุ่มหนึ่งที่แยกออกไปกลับเจริญขึ้น
พวกที่แย่ลงก็แบ่งกันออกเป็น 2 กลุ่มอีกครั้ง แยกกันโดยทำนองนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือครอบครัวของหญิงมีครรภ์เพียงครอบครัวเดียว ชาวบ้านทั้งหลายจึงพากันขับไล่ครอบครัวของนางออกจากหมู่บ้านไป ครอบครัวของนางจึงมีความเป็นอยู่ยากแค้นแสนสาหัสขึ้นไปอีก
เมื่อหญิงนั้นเมื่อคลอดบุตรแล้วก็พยายามอดทนเลี้ยงลูกจนเติบโตวิ่งเล่นได้ แต่ครอบครัวของนางต้องอยู่อย่างอดอยากยากแค้นยิ่งนัก ในที่สุดวันหนึ่งนางก็บอกลูกว่าเลี้ยงไม่ไหวแล้ว พร้อมกันนั้นก็เอาชามดินเผาใบหนึ่งยัดใส่มือลูกแล้วหนีไปอยู่เสียที่อื่น
ตั้งแต่นั้นมาเด็กคนนี้ก็ต้องร่อนเร่ไปเรื่อยๆ มีความอดอยากหิวโหยตลอดเวลา ไม่เคยได้กินอาหารเป็นมื้อสักครั้ง ได้แต่เก็บเศษอาหารที่เขาทำตกหล่นหรือสาดทิ้งมากิน ตกค่ำก็อาศัยนอนตามศาลาวัดบ้าง ชายคาบ้านหรือตามใต้สะพานบ้าง น้ำท่าไม่เคยได้อาบ ร่างกายซูบผอม สกปรก มีสภาพเหมือนปิศาจคลุกฝุ่น เป็นเช่นนั้นจนอายุประมาณได้ 7 ขวบ
วันหนึ่งขณะที่พระสารีบุตรกำลังบิณฑบาตอยู่ในเมืองสาวัตถี เห็นเจ้าเด็กนั่นกำลังกินเศษอาหาร เลยสงสารพามาที่วัดเชตวันแล้วให้บรรพชาเป็นสามเณร จนอายุครบ 20 ปี จึงให้บวชเป็นพระภิกษุ ได้ฉายาว่า โลสกติสสะ
ถึงแม้ว่าจะบวชเป็นพระภิกษุแล้วก็ตาม แต่ท่านโลสกติสสะไม่เคยได้ฉันอิ่มเลย ได้ฉันเพียงแค่พอประทังชีวิตไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น เพราะเมื่อใครใส่บาตรให้ท่านทัพพีเดียว คนอื่นๆ ที่จะใส่ให้อีกก็จะเห็นเสมือนว่าบาตรนั้นมีอาหารเต็มจนล้นขอบบาตรแล้ว จึงใส่ให้องค์อื่นแทน แม้กระนั้นก็ตาม ท่านก็มีความเพียรในการปฏิบัติธรรมเป็นเลิศ จนสามารถตัดกิเลสบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้
แต่อย่างไรก็ตามท่านก็ยังคงมีลาภน้อย ไม่ได้ฉันอิ่มอยู่ตามเคยร่างกายจึงทรุดโทรมตลอดมา จนกระทั่งวันหนึ่งพระสารีบุตรทราบว่าใกล้เวลาที่พระโลสกติสสะจะเข้านิพพานแล้ว จึงคิดอนุเคราะห์ให้ท่านได้ฉันอาหารเต็มอิ่มสักมื้อหนึ่ง ก็เลยพาท่านไปบิณฑบาตด้วย แต่ปรากฏว่าเมื่อท่านไปด้วย พระสารีบุตรกลับไม่ได้อะไรเลย ท่านจึงให้พระโลสกะติสสะกลับไปรอที่หอฉันก่อนแล้วท่านก็ย้อนกลับไปบิณฑบาตใหม่ คราวนี้ชาวบ้านทั้งหลายต่างพากันนิมนต์ท่านให้นั่งแล้วถวายภัตตาหารมากมาย พระสารีบุตรก็เลยให้คนนำอาหารไปถวายพระโลสกะ แต่คนนำอาหารไปนั้น กลับลืมไปว่าจะนำไปให้ใครจึงกินเสียเอง เมื่อพระสารีบุตรกลับมาถึงวัด ทราบว่าท่านยังไม่ได้ฉันก็รู้สึกสลดใจยิ่งนัก
พระสารีบุตรท่านเห็นว่ายังพอมีเวลาเหลืออยู่จึงเข้าไปในพระราชวัง พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงรับสั่งให้นำบาตรมา แต่ทรงเห็นว่าไม่ใช่เวลาถวายของคาวจึงถวายของหวานให้ 4 อย่าง คือเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย พระสารีบุตรนำของหวานที่ได้กลับไปหอฉัน แล้วเรียกพระโลสกะให้มาฉัน แต่พระโลสกะติสสะรู้สึกเกรงใจจะไม่ฉัน พระสารีบุตรจึงคะยั้นคะยอให้มาฉัน แล้วถือบาตรไว้เพราะเกรงว่าหากปล่อยบาตรออกจากมือเมื่อไหร่อาหารในบาตรก็จะหายไปหมด
มื้อนั้นพระโลสกะจึงนั่งฉันของหวานนั้นจนอิ่มเป็นครั้งแรกในชีวิต หลังจากนั้นท่านก็นิพพานในวันนั้นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งให้ปลงสรีระของท่านแล้วเก็บพระธาตุไว้ในเจดีย์
ต่อมาพระภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาถึงพระโลสะติสสะเถระว่า ท่านเป็นผู้มีลาภน้อย มีความเป็นอยู่อด ๆ อยากๆ อย่างนั้นแต่ก็ยังบรรลุธรรมได้ช่างน่าอัศจรรย์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปยังธรรมสภาทรงทราบข้อสนทนานั้น จึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระโลสกะติสสะเถระผู้นี้มีลาภน้อย เพราะเคยประกอบกรรมทำลายลาภของผู้อื่น และการได้อภิญญาก็ด้วยผลบุญที่บำเพ็ญเพียรมาดีแล้วในอดีตชาตินั่นเอง"
ที่ผู้เขียนได้ยกโลสกชาดกมาให้เห็นนี้ ก็ด้วยความปรารถนาดี ต้องการให้เห็นตัวอย่างว่า กรรมดีกรรมชั่วที่เราทำนั้นไม่หนีไปไหน คอยตามส่งผลในจังหวะที่เหมาะสมเท่านั้นเอง ดูตัวอย่างพระโลสกะเถิด แม้ในชาติสุดท้าย ท่านเป็นถึงพระอรหันต์ก็ยังต้องลำบากในเรื่องอาหาร ขอวิงวอนมายังทุกท่านที่คิดจะคัดค้านหรือหาเหตุค้านเรื่องการตักบาตรเพื่อช่วยเหลือพระภาคใต้กัน ให้นึกถึงความยากลำบากของพระภิกษุที่ท่านอุตส่าห์รักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ หากไม่ใช่เพราะความรักในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านไม่มีความจำเป็นที่จะอยู่ตรงนั้นเลย หากเป็นเราต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงอย่างนั้นเราจะกล้าหรือ หากไม่คิดจะสนับสนุนก็ขอเพียงแค่อย่าคัดค้านเลย เพราะเวลากรรมหนักจากการขัดลาภของผู้อื่นตามมาส่งผล ก็จะเป็นดังตัวอย่างที่ยกมา
ร่วมกันตักบาตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในชีวิต ดีกว่าการขัดขวางแล้วต้องลำบากกันดีกว่านะครับ
ขอขอบคุณ ภาพและเรื่องจาก dmc.tv
|
No comments: